3 เทคนิคการล่าแผ่นเสียงขั้นเทพจากนักขุดเจ้าเหรียญทอง

3 เทคนิคการล่าแผ่นเสียงขั้นเทพจากนักขุดเจ้าเหรียญทอง

ในวันที่หลายคนนิยมจับจ่ายแผ่นเสียงในเว็บ Discogs แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ชอบพาตัวเองไปเผชิญเรื่องราวเซอร์ไพรส์ในลังไม้ อย่างแก๊ง Olympic Digger นอกจากพวกเขาจะเป็นนักขุดเจ้าเหรียญทองแล้วยังเป็นทีมงานที่คอยสร้างคอมมูนิตี้ให้คนรักแผ่นเสียงได้มีโอกาสมาพบปะ แลกเปลี่ยนทั้งของและความรู้แก่กัน โดยสมาชิกปัจจุบันประกอบไปด้วย ออฟ มนต์ชัย ศรีจงใจ Digger ดีเจที่หลงใหลในรูปและรสของแผ่นเสียง, แพน หทัยชนก อรรถบุรานนท์ Digger ที่มองว่าแผ่นเสียงคือของสะสมไว้เติมเต็มความทรงจำ และ ฮอล ศาสตรา เฟื่องเกษม Digger สายไฮบริดที่เชี่ยวชาญการหาแผ่นทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์

ตั้งแต่อีเว้นท์แรกอย่าง Records Store Day ในช่วงสงกรานต์ปี 2015 จนถึงงานต่างๆ ที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นนั้นทำภายใต้มอตโตที่ว่า “Support Your Local Vinyl” ที่อยากให้คนที่มีใจรักแผ่นเสียงในทุกแวดวงได้ออกมาเจอกัน คงคอนเซ็ปต์งานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าคุณจะมีแผ่นเสียงหรือไม่มีแผ่นเสียงไว้ในครอบครอง ไม่ว่าคุณจะเซ็ตอัพเครื่องเทิร์นเทเบิลเป็นหรือไม่ พื้นที่ตรงนี้ก็เปิดกว้างพร้อมที่จะให้คำแนะนำและให้ทดลองอย่างสนุก ที่ผ่านมาทางทีมได้จัดกิจกรรมหลายรูปแบบทั้ง Olympic Digger Weekend ที่จะเป็นงานที่ให้ร้านค้าและนักสะสมมาแลกเปลี่ยนกัน The Olympic Jam ที่ให้โอกาสทุกคนถือแผ่นของตัวเองไปต่อคิวเปิดเพลงได้ในงาน หรืออย่างงาน Dig & Drip ที่สามารถฟังแผ่นเสียงและดริปกาแฟไปพร้อมกัน และ Trade & Talk เวทีสนทนาของคนรักแผ่นเสียง โดยมีผู้รู้จริงจากในวงการแผ่นเสียงมาแชร์เรื่องราว

หลังจากได้สนทนาพาทีกับสองหนุ่มและหนึ่งสาวแห่ง Olympic Digger  พบว่า ‘ช่วงเวลา’  คือสิ่งทำให้พวกเขาสนุกกับการหาแผ่นเสียงจากลังไม้เก่าๆ เราอาจอนุมานหน้าตาความสุขคร่าวๆ ได้ว่ามักจะมาพร้อมกับภาพตอนที่เราเจอแผ่นที่ตามมานานในสถานที่ที่เราคาดไม่ถึง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว จากการบอกเล่าของพวกเขาทำให้ผมได้รู้ว่า เราสามารถพบความสุขในแทบจะทุกช่วงเวลา ตั้งแต่การนั่งคุ้ยแผ่นอยู่ในร้านจนถึงตอนเดินกอดแผ่นออกจากร้าน


ไม่คาดหวัง ไม่ผิดหวัง

 ในกรณีของแพน เธอได้เล่าให้ผมฟังว่าส่วนตัวเธอเองเป็นคนที่ติดการ dig มาก แต่ก็จะไม่มีการมาคาดหวังมาก่อนว่าจะเจอแผ่นนั้นแผ่นนี้ เพราะเป็นเรื่องธรรมดามากที่จะเจอกับวันที่ไม่เป็นใจ และความรู้สึกของเธอทุกครั้งที่ไป dig เธอบอกว่าเหมือนตัวเองได้อยู่ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ที่ลอยไปทางไหนก็ได้ ที่บรรดาแต่ละ genre เหมือนดาวเคราะห์น้อยใหญ่ในกาแล็กซี่ โดยเธอบอกว่า “YouTube มันพยายามเลี้ยงเราไปในอัลกอริทึมในสิ่งที่เราชอบ แต่ว่าเวลาไปร้านแผ่นเสียง เราสามารถฟรีสไตล์ได้เลย ลองไปฟังเพลงในแนวเพลงที่เราไม่เคยฟังมาก่อนก็ได้ มันก็สนุก”

อย่างอ๊อฟ เขายอมรับกับเราว่าเป็นคนโลว์เทค ซึ่ง 95 เปอร์เซ็นต์ ของแผ่นทั้งหมดที่ได้มานั้นมาจากการ dig เขาย้ำกับเราว่าชอบที่ได้สัมผัสแผ่น ปัดฝุ่น และถึงแม้ไม่ค่อยชอบจริตในการสั่งแผ่นออนไลน์สักเท่าไหร่ แต่เขาก็ไม่ได้ปิดประตูใส่มันซะทีเดียว เพราะบางทีเขาก็ต้องยอมก้มหัวให้กับเทคโนโลยี “บางครั้งเราอยากได้แต่มันหาไม่ได้ จะให้เราเอาเวลาทั้งชีวิตไป dig ก็ไม่ใช่ มันมีเรื่องจริงอยู่” และเจ้าตัวบอกกับเราว่ามีหลายครั้งที่ไปร้านแผ่นเสียงแบบไปเดินเล่นๆ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจกลายๆ โดยที่ไม่ได้คิดว่าจะได้แผ่นหรือไม่ได้ ให้อารมณ์เป็นตัวกำหนด


แล้วคุณเป็น Digger สายไหน?

 

นอกจากการเตรียมตังค์เตรียมใจไปให้พร้อมแล้วนั้น ถ้าถามถึงสกิลหลักที่ต้องมี หากรักจะเป็น digger แล้วละก็อ๊อฟบอกผมว่า หนึ่ง ต้องมีมายด์เซตที่พร้อมเจอกับความสกปรก เพราะแผ่นในกองนั้นอาจจะเดินทางไปรอบโลกมาแล้วก็ได้ ถ้าคิดว่าตัวเองแพ้ฝุ่นง่ายก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ เช่น พวกหน้ากากหรือถุงมือ สอง ต้องเข้าใจภาษาในร้านแผ่นเสียง คำศัพท์พวก label และ condition ต่างๆ เพื่อที่จะได้สิ่งที่ตัวเองตามหา

ทั้งสามคนเห็นตรงกันว่าข้อดีของการไป dig ที่ร้านแผ่นเสียง คือ การได้ลองฟังเสียงจากแผ่นจริงๆ นอกจากจะได้รู้ถึงสภาพการใช้งานของแผ่นแล้ว ยังได้เห็นของจริงเหมือนซื้อเสื้อผ้าต้องได้ลอง อ๊อฟเสริมต่อว่าเขายังรู้สึกสนุกทุกครั้งในเวลาที่ได้หยิบแผ่นออกจากซองและวางลงบนเทิร์นเทเบิล เพื่อที่จะฟังดนตรี ทั้งหมดนี้เป็นมนต์เสน่ห์ที่กล่อมเขาเคลิบเคลิ้มได้อย่างไม่รู้เบื่อ

ถึงตรงนี้ได้เวลาพาไปดูเทคนิคขั้นเทพของนักขุดเจ้าเหรียญทองแห่งแก๊ง Olympic Digger ในวันที่พวกเขาออกไล่ล่าขุมทรัพย์ ให้พวกเราได้ไปทดลองทำตามกัน เผื่อครั้งหน้าที่คุณเดินเข้าร้านอาจจะได้ของดีติดมือกลับบ้านไปด้วย

สายคุมโซน

 

อ๊อฟบอกว่า เขามักจะให้ความสำคัญกับโซนเพลงที่ตัวเองชอบก่อนมาเป็นอันดับแรก เพราะมันเหมือนเป็นคอมฟอร์ทโซน แต่นั่นก็ไม่ได้การันตีเสมอไปว่าวันนั้นเขาจะได้แผ่นจากโซนนั้น โดยสเต็ปของเขานั้นจะทำได้ดีกว่าถ้าไปกับเป็นทีม โดยทำการนัดแนะเตี๊ยมกันกับคนที่ไปด้วยกันก่อนจะได้ไม่ต้องแย่งกัน และค่อยๆ ไหลไปทีละโซน

“เราจะตรงดิ่งไปหาโซนที่ชอบที่สุดก่อน เพราะเรามีความรู้มากท่ีสุด แล้วค่อยไปแนวอื่น จะไม่ค่อยข้ามแนว แต่ไม่เคยปิดกั้น พูดตรงๆ ก็เป็นการเพลย์เซฟ ก็คือเข้าคอมฟอร์ทโซนก่อน”

“สมมติไป dig กันสามคน และแนวเพลงเดียวกัน แล้วเรารู้ว่ามันอยู่ตรงนี้ เริ่มเราก็จะไปจับกระบะนั้นก่อน ถ้าไม่ชอบกันค่อยเปลี่ยนกัน แต่เรารู้ว่ากระบะนี้น่าจะใหม่สุด เหมือนเราก็จะต้องรู้ว่าเราจะไปไหน สอง เราก็ต้องคุมโซน บอกคนที่มาด้วยอย่าเพิ่งข้าม เราก็เล็งไว้ก่อนแบบกระบะเนี้ยน่าจะใช่เรามากกว่า แล้วก็พูดคุยกับคนที่มาด้วยว่าถ้าเราเสร็จแล้ว เราไปดูของเค้าต่อนะ เดี๋ยวสลับกันเลย”

สายเกมเร็ว

 

เพราะความไวเป็นเรื่องของปีศาจ ด้วยความที่แพนเป็นคนไม่ชอบเสียเวลาอยู่กับร้านใดร้านหนึ่งมากไป วิธีการจัดการของเธอก็คือต้อง dig ให้ไวที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เธอ dig ได้ไม่ทั่วร้านนะ เพราะเธอจะเริ่มจากกองที่ไม่ใช่แนวตัวเองก่อน เหมือนการกินก๋วยเตี๋ยวที่กินเส้นก่อนแล้วเก็บลูกชิ้นไว้กินตอนท้าย

“จุดเด่นน่าจะเป็นความเร็ว ชอบ dig เร็ว สมมติว่าเราไปร้านที่แบบมันมีแผ่นเยอะมากๆ และถ้ามันไม่มีแนวที่ชอบ แพนจะเร็วมากในตอนที่เลือกแผ่น ถ้าไม่ใช่จะย้ายเลย แล้วพอเจอกระบะที่ใช่ปุ๊ปจะหยุดเลย เราเป็นโรคจิตเวลาที่เราเข้าไปในร้าน เราจะไปตามแนวที่เราไม่ได้หาก่อน สมมติเราเก็บโซลเราอาจจะขยับไปดู แจ๊ส ฟังก์ ดิสโก้ แนวข้างๆ ก่อน แล้วค่อยมาโซลอันสุดท้าย”

สายวางแผน

 

ช่วงต้นของการคุยกันแพนและอ๊อฟบอกผมว่า “ถ้าหากคุณไม่เตรียมตัวให้ดี การไป dig อาจจะทำให้คุณเลิกกับแฟนก็ได้” เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลานาน โดยเฉพาะเวลาที่ไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นเหตุให้การวางแผนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งฮอลก็จัดได้ว่าเป็น Digger แนววางแผน เขาจะคอยปักหมุด เช็คสถานที่รอบข้าง โดยยึดที่พักและจุดแลนด์มาร์คที่พรรคพวกเขาต้องการจะไปก่อนและจากนั้นเจ้าตัวจึงจัดสรรเส้นทางทัวร์ dig แผ่นของตัวเอง

“เราต้องทำการบ้านไปก่อน สมมติว่าร้านที่โตเกียว ง่ายๆ เลยอย่างร้าน HMV ร้านนี้มันจะเป็นปั้มใหม่ ปั้มพิเศษ ฉะนั้นก็รู้ว่าเราจะไปเจอแผ่นอะไรที่นี่ หรืออย่างโอซาก้ามันมีร้านชื่อ Afro Juice ฟังชื่อร้านก็รู้แล้วว่ามันเป็นกรู๊ฟแน่ๆ เราก็คาดหวังได้ว่าเราจะต้องเจอกับอะไร พยายามไปให้มันเห็นกับตามากที่สุด ถ้ารู้ตัวว่าไปผิดที่ ก็ไปอีกร้านนึงเลย มันจะได้ไม่เสียเวลามาก”

“จริงๆ ที่พักก็มีผลนะ ตอนไปเที่ยวเราก็จะเซฟแต่ละที่ไว้ใน google map ทำไว้ก่อนเลยเมืองที่เราไปมันมีร้านอะไรบ้าง มันมีร้านแนวประมาณไหนบ้าง และเราจะเว้นไว้เป็นวันฟรีเพื่อที่ให้แฟนไปช้อปปิ้งและเราไปหาแผ่น โดยหาเส้นทางที่จะไปร่วมกันได้ แล้วก็นัดเจอกัน”

 

‘เซอร์ไพรส์’ เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของเหล่า digger ทุกคน อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแพน ถึงขนาดทำให้เธอต้องรู้สึกขนลุกกันเลยทีเดียว มีครั้งหนึ่งเธอได้ไปคุ้ยแผ่นที่ร้านแผ่นเสียงแห่งหนึ่งในเบอร์ลิน ซึ่งระหว่างที่เลือกๆ อยู่นั้นได้เจอกับแผ่นอัลบั้ม Be Thankful for What You Got (1974) ของ William DeVaughn ซึ่งเป็นอัลบั้มโปรดของเธอมาตั้งแต่เด็ก แรกๆ ก็จะเจอเป็นแผ่น reissue ที่ยังซีลอยู่เลย แต่พอพลิกไปเรื่อยๆ ในลังนั้นปรากฏว่าเจอกับแผ่นเวอร์ชั่นปั้มในปีแรก หรืออย่างอ๊อฟ ในฐานะที่เขาเป็นดีเจ ก็มักตามหาสุ้มเสียงที่จะมาเชื่อมรอยต่อของเพลย์ลิสต์ที่เขาต้องการ ซึ่งในเวลาที่เขาได้เจอกับดนตรีที่ใช่ สำหรับเขา มันคือความรู้สึกที่สุดจริงๆ

“ความสนุกไม่ได้อยู่แค่การจับและฟัง มันอยู่ที่ตอนถือกลับบ้านด้วย แล้วบางทีมันฟังไม่ได้นะ อยู่บนรถยังหยิบขึ้นมาดูเลย เหมือนดูซีดีแต่ก่อน เราก็ภูมิใจอยู่คนเดียว” อ๊อฟเล่าให้เราฟังว่าเรื่องราวของความสุขในการไล่ล่าแผ่นเสียงของเขามันไม่ได้สนุกแค่ในร้านแผ่นเสียง เช่นเดียวกับในมุมของฮอล ความสุขของเขาต่อการผจญภัยในการล่าแผ่นเสียงนั้นจะอยู่ในช่วงสุดท้ายของวันที่เขาได้มานั่งพักและพิจารณาสิ่งที่ได้มาในแต่ละวัน “เหมือนน่าจะช่วงปี 2013-14 ในเมืองจะไม่ค่อยมีร้านให้ dig จะมีแถวสนามหลวงแล้วผมจะพาเพื่อนไปตามร้าน แล้วตอนเย็นก็มานั่งกินเบียร์ความสุขมันมาอยู่ตรงที่วันนี้มันได้อะไรบ้าง อันนี้แม่งโคตรถูกเลย อันนี้กูหามานานแล้ว”

ทั้งนี้การ dig นั้นเป็นเรื่องยากที่จะสร้างสูตรสำเร็จให้เป็นคู่มือขึ้นมาสักเล่ม เพราะมันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งแนวเพลงที่แต่ละคนชอบ จุดประสงค์ในการหาแผ่นหรือสะสมแผ่นที่ถ้าหากมานั่งวิเคราะห์เอาจริงเอาจังจะพบว่ามีหลายเลเยอร์มาก และสุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่การฝึก ทั้งสามคนพยักหน้าพูดกับผมทุกคนว่า ต้องหมั่นฝึกมืออยู่เรื่อย เพราะการ dig มันเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบ ต้องดูบ่อย ฟังบ่อย จับบ่อย

 

กฎเหล็กเมื่ออยู่ในร้านแผ่นเสียง

 

1.ไม่ควรซุกแผ่นหรือแอบแผ่นที่อยากได้ไว้ในกองอื่นๆ หรือในลังแนวเพลงอื่นๆ
ถ้าคุณอยากได้คุณควรตัดสินใจซื้อไปเลย

2.ไม่ควรเสียงดังและไม่ตัดหน้าคนที่กำลังหาแผ่นอยู่ก่อนหน้าเรา

3.ควรจับแผ่นอย่างทะนุถนอม

4.ไม่วางแผ่นที่ตัวเองเลือกมาขวางทางคนอื่น
โดยเราสามารถฝากแผ่นไว้ที่พนักงานร้านได้

5.ควรจะเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งเจ้าของร้านและคนที่อยู่ในร้าน

Back to blog