ผู้อ่านของเรา คงจะเคยได้อ่านบทความเกี่ยวกับโลกเครื่องเสียงที่เราได้นำเสนอไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของนักเล่นเครื่องเสียงที่ใช้เวลากว่า 40 ปีในการสั่งสมประสบการณ์และเรียนรู้การฟังเพลงที่หลากหลาย ไปจนถึงวิธีการทดสอบชุดเครื่องเสียงเบื้องต้นที่เราหวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะสำหรับนักเล่นเครื่องเสียง แต่รวมถึงผู้อ่านที่กำลังคิดจะก้าวเข้ามาสู่การเป็นออดิโอไฟล์ทุกคนด้วย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เรารู้ดีว่าไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะอุทิศเวลาและเงินทองให้กับการเป็นนักฟังมือโปร เพราะจุดมุ่งหมายในการฟังของคนส่วนใหญ่ก็เพื่ออรรถรสและความบันเทิงในเสียงดนตรีเท่านั้น การจะหา “เครื่องเสียงเครื่องแรก” จึงดูเป็นภารกิจที่ซับซ้อนหลายขั้นหลายตอน แถมยังใช้เงินไม่น้อย สู้หันมาใช้บริการ Streaming ชีวิตก็ง่ายกว่าตั้งเยอะจริงไหมจริง ถ้าหากความง่ายเป็นเป้าหมายหลัก แต่อย่าลืมสัมผัสแบบโลกเก่าที่ไม่มีผู้ให้บริการฟังเพลงแบบลงทะเบียนรายไหนมอบให้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะมีไหมทางสายกลางแห่งการฟังเพลง...
หากจะแบ่งพอสังเขป การฟังดนตรีผ่านตัวกลางต่างๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 หนทาง ได้แก่
1. หูฟัง
หากพูดโดยทั่วไป หูฟังเป็นตัวเลือกที่เข้าถึงง่ายที่สุดทั้งการใช้งานและราคา (แม้ว่าบางคู่มีราคาเป็นแสนเหมือนกัน) หาง่าย พกพาไปได้ทุกที่ จึงเป็นสิ่งที่นิยมกันมาก แต่ก็มีข้อจำกัดของการนำเสนอเวทีเสียง และความไม่เป็นธรรมชาติของการรับฟัง เพราะตามหลักแล้วเสียงต้องเดินทางผ่านอากาศมาสู่หูของเรา ที่แน่ๆ คือเป็นอุปกรณ์ที่สร้างมาให้รับความบันเทิงแบบรายบุคคล ไม่สามารถแบ่งปันความสุขและประสบการณ์ไปพร้อมๆ กับคนรอบตัวได้ในยามที่เราต้องการ
2. ชุดเครื่องเสียง
สำหรับเส้นทางนี้นั้น ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการเลือกสรร จนกระทั่งได้องค์ประกอบที่ลงตัวสำหรับคนคนนั้น การเล่นเครื่องเสียงแบบเต็มระบบเป็นการลงทุนที่สูง ใช้พื้นที่ในบ้านพอสมควร แต่ก็ย่อมให้ผลลัพธ์ของเสียงที่สร้างความน่าประทับใจ คุ้มค่า และใกล้เคียงกับคำว่า Hi-Fidelity หรือความสมจริงของเสียงดนตรีที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ
3. การฟังแบบ “กล่องเดียวจบ”
หากพูดถึง “One Box” หลายคนคงนึกถึงลำโพงจำพวก Active speakers ซึ่งปัจจุบันมีการเสริมฟังก์ชั่นอย่างบลูทูธเข้าไป แต่หากพูดถึงการรวมทุกอย่างเพื่อความสะดวกสบายในการเล่น เรากำลังจะพูดถึงเครื่องคอนเซปท์ใหม่ (All-In-One Box) ซึ่งเหมาะที่สุดสำหรับคนที่ต้องการเดินทางสายกลางที่ให้ได้ทั้งความสะดวกสบายและอรรถรสในการฟังไปพร้อมๆ กับการผสมผสานความเป็นอนาล็อกและดิจิทัลได้อย่างลงตัวในเครื่องเดียว เล่นแผ่นเสียงก็ได้ เล่นเพลงจากไฟล์หรือ Streaming ในมือถือก็สามารถ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้ใช้ในขณะนั้น เป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี และนับเป็นการแก้เกมที่ชาญฉลาดของผู้ผลิตที่เข้าใจพฤติกรรมการฟังเพลงที่เปลี่ยนไปของผู้คน เช่น การฟังแบบทีละเพลงมากกว่าทั้งอัลบั้ม หรือการรับข้อมูลแบบ Streaming และยังประหยัดพื้นที่ เพราะเครื่องคอนเซปท์ใหม่นี้ไม่ต้องอาศัยตารางเมตรเกินจำเป็น ด้วยการออกแบบระบบ integrated ให้เครื่องเล่นแผ่นวางอยู่บนลำโพงไปเลย โดยที่ยังผลิตเสียงที่เข้าใกล้ความสมจริง (Hi-Fidelity) ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
แล้วเหตุใดอนาล็อกจึงกลับมาเป็นที่นิยม
กลับมาที่วลีข้างต้น “สัมผัสแบบโลกเก่า” เป็นต้นเหตุของความนิยมที่หวนคืนมาของการฟังเพลงแบบอนาล็อก เป็นสิ่งที่คนเรามักถามหาเมื่ออะไรๆ มันเดินเร็วเกินไปจนสัมผัสด้วยมือไม่ได้ ประเด็นนี้เรามีคำอธิบาย...
Reproduction ในบริบทของออดิโอไฟล์มีจุดประสงค์เพื่อ “เล่นกลับ เพื่อฟังเสียงเดิม” ในอดีตนั้น เราฟังดนตรีสดที่นักดนตรีมาเล่นให้เราฟัง หากต้องการฟังซ้ำก็ต้องมีการบันทึกไว้สักรูปแบบ เพราะในความเป็นจริง ไม่มีใครจ้างวงดนตรีมาเล่นให้ฟังได้ทุกวัน จากที่แต่ก่อนมีความต้องการอยู่ไม่มาก เทป Open-Reel ก็มีจำนวนเพียงพอให้ผู้คนได้เพลิดเพลินกับเสียงเพลง แต่วันหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปมีอุปสงค์มากขึ้น ตลาดใหญ่ขึ้น ก็เกิดการแปรรูปจากเทป Open-Reel เป็นแผ่นเสียง ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงกว่าเดิมอย่างทวีคูณ ขายได้มากขึ้น แต่คุณภาพย่อมลดลง เพราะมีการลดทอนเนื้อของดนตรีให้สามารถบรรจุอยู่ในแผ่นเสียงแผ่นเดียวได้
หลังจากยุคของแผ่นเสียง คนก็เกิดหัวใส ให้กำเนิดแผ่นซีดี ขีดเส้นยุคเริ่มต้นของดิจิทัล โดยในยุคนี้ได้มีการปลูกฝังความเชื่อกับผู้บริโภคว่า แผ่นซีดีให้คุณภาพเสียงเหนือกว่าแผ่นเสียง มีรายละเอียดแพรวพราว ปราศจากเสียงรบกวน มีช่วงเสียงที่กว้างกว่าแผ่นเสียง ต่างๆ นานา เครื่องเล่นซีดีก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เรียกได้ว่ายุคเก้าศูนย์คือยุคเฟื่องฟูของซีดีเลย ต่อมาในยุค 2000s เราก็เดินทางเข้าสู่ยุคของการเล่นกลับด้วยไฟล์เพลงอย่างเต็มตัว “A thousand songs in your pocket” คือวลีอมตะที่สตีฟ จ็อบส์ กล่าวตอนเปิดตัว iPod ในปี 2001 ซึ่งแสดงถึงการบีบอัดขนาดไฟล์เพื่อให้สามารถบรรจุเพลงเป็นร้อยเป็นพันอยู่ในเครื่องเล่นขนาดพกพาได้สำเร็จ จะปั๊มซีดีก็เริ่มไม่คุ้มต้นทุนแล้ว จุดนี้เองที่การฟังเพลงจากซีดีเริ่มจางหายไปจากชีวิตของเรา
จนกระทั่งเมื่อช่วงสิบปีที่ผ่านมา โลกก็เริ่มรู้จักกับระบบ Streaming ไฟล์เพลงแบบ Hi resolution ซึ่งเป็นระบบการแจกจ่ายความสุขจากเสียงเพลงที่ตอบโจทย์อย่างยิ่งกับปริมาณความต้องการที่สูงมากของคน คุณภาพเสียงที่เคยถูกบีบอัดมาครั้งหนึ่งแล้ว ก็ยิ่งถูกโปรแกรมให้เล็กกระทัดรัดลงไปอีกขั้นเพื่อความเร็วในการกระจายข้อมูลไปทั่วโลก
ในขณะที่เราพยายามนั่งนึกถึงครั้งสุดท้ายที่ได้ฟังเพลงจากแผ่นซีดี ซึ่งก็น่าจะเกือบสิบปีได้แล้วนั้น คำถามที่น่าคิดคือ ในสภาวะที่คำว่า Apple Music, Spotify หรือ Tidal เป็นชื่อในครัวเรือนที่ทุกคนเข้าใจตรงกันแล้ว ทำไมเราจึงเห็นการกลับมาของเทคโนโลยีจากวันวานอย่างแผ่นเสียง ทำไมแผ่นเสียงมันฟังดูมีเนื้อ มีมวลที่อิ่มกว่า ให้บรรยากาศของเสียงที่เป็นธรรมชาติมากกว่า และยังจับต้องได้ นั่งเปิดนั่งพลิกดูงานศิลปะบนปกก็ยังได้อรรถรสพิเศษเสมอ
เมื่อกลับไปเทียบกับเสียงที่ถูกถ่ายทอดผ่านระบบดิจิทัลซึ่งฟังดูแข็งๆ แห้งๆ กว่าแล้ว ก็จึงได้พบกับความจริงว่า การเปลี่ยนผ่านทั้งหลายในวงการเครื่องเสียงเกิดขึ้นจากกระบวนการในเชิงพาณิชย์สู่ตลาดมวลชนหรือ Commercialization ที่ทำให้คนเราต้องติดกับดักของเทคโนโลยี หรือที่ผ่านมาเราแค่หลงไปกับคำโฆษณาที่เป็นผลพวงของวิวัฒนาการด้านดิจิตัล ที่ให้ความสะดวกสบาย แต่แลกมาด้วยการลดทอนความสุนทรีย์ที่หาได้เฉพาะในวิถีอนาล็อกเท่านั้น
เพราะสำหรับออดิโอไฟล์ การฟังอย่างเข้าถึงนั้นเป็นสิ่งที่ยังคงต้องอาศัยโสตสัมผัสโดยตรงของมนุษย์ หากจะเล่นเครื่องเสียง ไม่ว่าจะแบบชุดระบบหรือจบในกล่องเดียว ก็ต้องไปฟังด้วยหูของตนเอง อินเตอร์เน็ตยังไม่สามารถมอบประสบการณ์ที่สมบูรณ์ได้