“บางครั้งเสียงร้องของฉันนั้นหยาบเหมือนก้อนกรวด และในบางครั้งก็นุ่มละมุนราวกับกาแฟที่เติมครีม” คำพูดอมตะหนึ่งของตำนานศิลปินชาวอเมริกัน นิน่า ซิโมน บอกอะไรกับเรา? เธอกำลังพูดถึงเนื้อเสียงที่เปล่งออกมาเพื่อประกอบท่วงทำนองของดนตรี หรือเธอหมายถึงความสวยงามในเสียงร้องที่ขับกล่อมผู้ฟังแต่ละคนกัน สำหรับคนที่เราจะคุยด้วยในวันนี้ คำตอบมีอยู่ในทั้งสองสิ่ง
คุณวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ เป็นคนพูดน้อยต่อยหนักที่ใช้เวลาแต่ละวันไปกับการฟังมากกว่าการพูด ในฐานะผู้กุมบังเหียนด้านการตลาดของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เขาถือเป็นหนึ่งในผู้คร่ำหวอดในแวดวงยานยนต์ที่น้อยคนจะไม่รู้จัก แม้ชีวิตการทำงานของคุณวุฒิจะอุทิศให้กับอุตสาหกรรมนี้มานานเกือบ 40 ปี ทว่านั่นไม่ใช่ทั้งหมดที่เขาเป็น
เพราะในเวลาที่คุณวุฒิไม่ได้สวมบทบาทผู้นำค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เขาคือชายคนหนึ่งที่หลงใหลในโลกของเครื่องเสียง (Audiophile) ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงการ ว่ากันว่าเครื่องเสียงชุดใดก็ตามที่ “ผ่านการทดสอบจากพี่วุฒิแล้ว” จะเสมือนได้รับตราประทับแห่งความน่าเชื่อถือไปโดยปริยาย บ่อยครั้งจึงถูกใช้เป็นหลักประกันของนักฟังมืออาชีพที่มีน้ำหนักมากกว่าคำโฆษณาบนหน้านิตยสาร ซึ่งทั้งบริษัทผลิตเครื่องเสียงและตัวแทนจำหน่ายหลายรายต่างให้ความไว้วางใจ
อารัมภบทมาขนาดนี้ เราไม่โทษผู้อ่านหากเกิดข้อกังขาขึ้นมาในใจ แต่อย่าลืมว่าภูมิความรู้และความสามารถในการฟังนั้น หาใช่ทักษะที่บ่มเพาะกันชั่วข้ามคืน ชั่วโมงบินอันเกิดจากการแสวงหาด้วยตนเองประกอบกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้แก่ประสบการณ์กว่านั้นเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสมกันครึ่งค่อนชีวิต เรื่องราวในวันนี้ของเรานำทางผู้อ่านเข้าสู่สุนทรียภาพของการฟังดนตรีที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเครื่องเสียง ผ่านการบอกเล่าของผู้ชายคนนี้
ตั้งแต่การเตรียมตัวเริ่มเล่นเครื่องเสียง การคัดสรรแผ่นเสียงและระบบที่เหมาะกับตัวคุณ ไปจนถึงผู้ผลิตและสินค้าใหม่ที่น่าจับตามอง จากวันนี้คุณสามารถนับ Siangdee เป็นประตูสู่แหล่งความรู้เรื่อง Audiophile ที่เชื่อถือได้สำหรับทั้งคนที่สนใจหรือกำลังคิดจะเริ่มเล่นเครื่องเสียง เราตระหนักดีในความเข้าถึงยากของวงการนี้ และตั้งใจที่จะทำให้มันเป็นไปในทางตรงกันข้าม
เพราะเหตุไม่พึงประสงค์อย่างการพาตัวเองเข้าร้านเครื่องเสียงราคาสูงโดยไม่ได้พกข้อมูลติดตัวไปเลย นอกจากจะสื่อสารกับทางร้านไม่เข้าใจแล้ว ซ้ำร้ายยังอาจเคลิ้มตามคำชี้ชวนที่เกินจริงจนตกลงปลงใจซื้อสิ่งที่ไม่ได้เหมาะกับตัวเอง เรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในโลกเครื่องเสียง ดังนั้นเราหวังว่าเมื่อคุณได้อ่านไปถึงบรรทัดสุดท้ายของบทความฉบับนี้ คุณจะไม่ได้เป็นเพียงผู้อ่านที่ดีเท่านั้น แต่ยังสามารถเริ่มต้นการเป็นผู้ฟังคุณภาพพร้อมๆ ไปกับเรา
ในบรรยากาศผ่อนคลายของห้องรับแขกที่แชร์ผนังกับห้องฟังเพลงของคุณวุฒิ เขาฮัมเพลง Have You Met Miss Jones ของ เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ เบาๆ ก่อนจะเริ่มทำการให้สัมภาษณ์ เราเปิดบทสนทนาด้วยการย้อนเวลาไปไกลที่สุดในความทรงจำของคุณวุฒิ
เขาเล่าว่าตั้งแต่จำความได้ คนรอบข้างทุกคนชอบฟังเพลง สมัยเด็กทุกวันก่อนที่คุณพ่อจะออกไปทำงาน นาฬิกาบอกเวลาหกโมงเช้า เพลง โปรดเถิดดวงใจ ของ ทูล ทองใจ ศิลปินคนโปรดของท่าน ลอยมาตามเสียงวิทยุเครื่องเดิม “เป็นเสียงที่ไพเราะเป็นพิเศษเวลาได้ฟังช่วงรุ่งสาง” คุณวุฒินึกย้อนถึงชีวิตวัยเด็ก บางวันเขาจะได้ยินญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในบ้านเปิดเพลงของครูเอื้อ สุนทราภรณ์ เพลงแรกที่เขาจำได้คือ ขอให้เหมือนเดิม ส่วนคุณอาของเขา แกจะชอบฟังเพลงสากลเป็นหลักโดยเฉพาะเพลง The Young Ones ของ คลิฟฟ์ ริชาร์ด “ตอนนั้นน่าจะประมาณ พ.ศ. 2510 เห็นจะได้ ด้วยความที่ได้ยินเสียงเพลงกล่อมหูมาตลอด ก็เลยทำให้ได้ฟังเพลงที่หลากหลาย สำหรับผมแค่ขอให้ได้ฟังเพลง ก็รู้สึกมีความสุขแล้ว”
ด้วยความที่เป็นเด็กที่สนใจในเรื่องเครื่องยนต์กลไกและชอบฟังเพลงเป็นนิสัยอยู่แล้ว เครื่องเสียงระบบหลอดสูญญากาศที่ตั้งอยู่ในบ้านเป็นเหมือนสิ่งมหัศจรรย์ที่ซ่อนคำตอบมากมายไว้ให้ค้นหาด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากแอบไปงัดแงะดูเองจนเครื่องพังคงจะเกิดเรื่องใหญ่แน่ๆ เด็กชายวุฒิกรจึงเหลือบไปที่เครื่องใช้ไฟฟ้าอีกชนิดที่ผลิตภาพและเสียงให้ทุกคนในบ้านได้บันเทิงใจกันทุกเย็น..
นึกภาพโทรทัศน์ขาวดำสมัยโบราณ ตอนนั้นเขาเกิดคำถามตามประสาเด็กว่าเสียงมันออกมาจากเจ้ากล่องสี่เหลี่ยมนี่ได้อย่างไรกัน ก็เลยลองสำรวจมันเพื่อที่จะคลายความสงสัยนี้ มองดูรอบๆ เครื่องก็พบว่ามันมีดอกลำโพง สายเชื่อมต่อหลายเส้น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งเป็นต้นทางของเสียง ว่าแต่เสียงนี้มันถูกกระจายออกมาด้วยวิธีอะไรกัน มันผ่านมาตามอากาศ หรือมันมีชายขนาดจิ๋วที่ถูกบรรจุไว้ให้ร้องเพลงในตู้สี่เหลี่ยมเครื่องนี้อย่างไม่มีวันหยุด แม้จะไม่ได้คำอธิบายที่แน่ชัดในบ่ายวันนั้น แต่มันคือชั่วขณะแรกที่สมองได้ทำความรู้จักกับระบบเครื่องเสียง
ตั้งแต่นั้นเขาก็เริ่มมีความสนใจอย่างจริงจัง พอโตมาเป็นวัยรุ่นก็เริ่มเลือกเพลงฟังด้วยตัวเอง วงดิอิมพอสซิเบิ้ลส์ คือดนตรีกระแสหลักที่ใครต่างก็ชื่นชอบ นี่เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับดนตรีแนวดิสโก้และ “เพลงสตริง” ที่ผู้คนเรียกกันในตอนนั้น ด้วยท่วงทำนองและเนื้อเพลงที่ฟังสนุก จึงถูกใจวัยรุ่นยุค 70’s โดยที่ร่วมยุคสมัยเดียวกันก็คือเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเขาบอกว่ามีเสน่ห์ทุกครั้งที่ฟังเวลาอยู่ต่างจังหวัด “ดนตรีเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยบรรยากาศในการรับฟังจึงจะได้อรรถรส” เขากล่าวเสริมขณะที่ไล่ชื่อนักร้องลูกทุ่งชื่อดังในสมัยนั้น ตั้งแต่ สุรพล สมบัติเจริญ ศรคีรี ศรีประจวบ เพลิน พรหมแดน ไปจนถึง สายัณห์ สัญญา ศิลปินแต่ละคนล้วนมีสไตล์การขับร้องที่เป็นของตัวเอง
วิทยุ FM ถือเป็นแหล่งค้นพบดนตรีสากลชั้นดีสำหรับวัยรุ่นยุค 70’s แกรนด์ฟังก์เรลโรด พิงก์ฟลอยด์ วิชโบน แอช และอีกสารพัดวงร็อกที่โด่งดังเป็นพลุแตกในทศวรรษนี้ เปิดโลกทัศน์การฟังเพลงของวัยรุ่นไทยให้กว้างไกลกว่าเดิม ซึ่งสำหรับเด็กชายวัยมัธยมคนหนึ่ง การได้เปิดรับกับเสียงดนตรีนานาชนิด ตั้งแต่ลูกกรุง ลูกทุ่ง เพลงไทยในกระแสไปจนถึงเพลงสากล ไม่ใช่เป็นเพียงการสั่งสมรสนิยมในการฟังเพลงที่หลากหลาย แต่มันคือการพัฒนาทักษะการฟังเสียงขึ้นโดยไม่รู้ตัว “มันทำให้เราเป็นคนที่ฟังเพลงได้ทุกแนว และทุกยุค”
เมื่อเริ่มรู้จักการวิเคราะห์และแยกแยะเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ก็จึงเริ่มมองหาเสียงที่คุณภาพดีขึ้น สมัยเรียนมหาวิทยาลัยจะนั่งรถผ่าน “บ้านหม้อ” ทุกวัน สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อนี้ ถนนบ้านหม้อเป็นย่านโบราณที่สร้างในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 เต็มไปด้วยร้านรวงขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ อัญมณี รวมไปถึงเครื่องเสียงและลำโพง สำหรับคุณวุฒิที่นี่เองคือจุดเริ่มต้น เพราะในยุคที่ความรู้ไม่ได้อยู่รอเราในอินเตอร์เน็ต บ้านหม้อคือสถานที่เรียนรู้ชั้นดี
ยุคนั้นจะมีหนังสือแนวอิเล็กทรอนิกส์ขาย ซึ่งพูดถึงวงจรวิทยุ วงจรไฟฟ้าที่ใช้ขยายเสียง บวกกับการเดินสำรวจที่บ้านหม้อเป็นประจำแทบจะทุกวันหลังเลิกเรียนเพราะเป็นทางผ่านกลับบ้าน ได้พูดคุยกับคนขาย เขาไปที่นั่นคนเดียวโดยไม่ได้มีเพื่อนร่วมความสนใจเดียวกัน นั่งศึกษา นั่งทำอยู่คนเดียว โดยมีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้ตู้ไม้ชุดนี้ของเราผลิตเสียงได้ดีที่สุด ต่อมาก็ค้นพบว่ามันมีเครื่องขยายเสียง (Amplifier) มีชุดสำเร็จรูป (Kit) ให้ประกอบเองได้ จากนั้นก็ไปหาซื้อตู้ลำโพง เป็นตู้ไม้ ทั้งหมดเชื่อมต่อเข้ากับวิทยุที่มีอยู่ ได้เป็นชุดเครื่องเสียงเต็มระบบเครื่องแรก
“
เวลาที่ได้ไปดูการแสดงดนตรีสดถือว่าพิเศษมากๆ มันคือการได้เห็นเซ็ตอัพ เห็นตำแหน่งของแต่ละคน มันเป็นอารมณ์ของการฟังดนตรีที่ครบถ้วน และที่สำคัญคือเป็นประสบการณ์ที่มีค่าในการสอนหูของเรา
”
แต่เส้นที่แบ่งระหว่างการหาชุดอุปกรณ์ฟังเพลงทั่วไปออกจากการเข้าถึงโลกของเครื่องเสียง ก็คือความสมจริงของเสียง “สมัยก่อนเป็นคนชอบดูคอนเสิร์ตทางทีวี มันทำให้เรารู้ว่า จริงๆ แล้วเสียงที่เราได้ยินทางวิทยุมันมาจากองค์ประกอบเต็มไปหมด มีมือกลอง มือกีต้าร์ มือเบส เครื่องเป่า มีนักร้อง ที่ผลิตเสียงกันอยู่บนเวที ทำให้เราได้เห็นทั้งภาพและเสียง ยิ่งเวลาที่ได้ไปดูการแสดงดนตรีสดถือว่าพิเศษมากๆ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นเป็นบ่ายแก่ๆ ของวันอาทิตย์ ได้ไปดูวงชาตรีแสดงกลางแจ้ง บรรยากาศก็แดดร่มลมตก สิ่งที่ได้รับชมไม่ใช่แค่วงดนตรีวงหนึ่งแสดงให้ดู แต่มันคือการได้เห็นเซ็ตอัพ เห็นตำแหน่งของแต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่าเสียงที่ออกมานั้นมันย่อมกระหึ่มและสมจริงกว่าการนั่งฟังวิทยุที่บ้านเป็นไหนๆ มันเป็นอารมณ์ของการฟังดนตรีที่ครบถ้วน และที่สำคัญคือเป็นประสบการณ์ที่มีค่าในการสอนหูของเรา”
พอเขากลับไปฟังที่บ้าน ก็พบกับคำถามใหญ่ ทำไมมันไม่เพราะเหมือนนั่งดูการแสดงสดเลย “มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เสียงมันแน่นเต็มร้อยได้แบบนั้น หรือว่าเครื่องเสียงที่มียี่ห้อมันก็น่าจะดีกว่าเครื่องเสียงที่นั่งประกอบเองสินะ” เขาออกเสาะหาโดยเริ่มจากย่านหลังกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นแหล่งขายเครื่องเสียงนำเข้า ได้เป็นเครื่อง Receiver (เครื่อง All-in-one มีภาครับวิทยุ มีเครื่องขยายเสียงอยู่ในตัว แค่เอาลำโพงมาต่อก็พร้อมฟัง) ยี่ห้อ Marantz ซึ่งตอนนั้นเป็นยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักพอสมควร แล้วก็ซื้อลำโพงมาด้วยคู่หนึ่ง “จำได้ว่าทั้งเซ็ตราคา 9,500 บาท”
ว่าแต่เส้นแบ่งนั้นมันอยู่ตรงไหน เส้นที่บอกว่าการกล้าซื้อสายลำโพงเส้นละล้านบาทไม่ใช่เรื่องเสียสติ เส้นที่ใจบอกเราว่าเครื่องเสียงที่เราใช้อยู่มันไม่ตอบโจทย์เราอีกต่อไปแล้ว ได้เวลาต้องเลื่อนขั้นอุปกรณ์ ในทำนองเดียวกับความรู้สึกหลังจากเพิ่งกลับจากคอนเสิร์ตวงชาตรีช่วงเย็นวันนั้น
คุยกันจนเพลิน ตอนนี้เสียงเพลงจากอัลบั้มแรกเล่นจนแผ่นครบรอบแล้ว บทสนทนาถูกแทรกด้วยเสียงของเข็มที่ขัดร่องแผ่นเพราะสิ้นสุดหน้าแรก คุณวุฒิรีบเดินหายเข้าไปในห้องฟังเพลง สักครู่เดินกลับออกมาพร้อมเสียงเพลงใหม่ในพื้นหลัง “ต้องอย่าปล่อยให้เครื่องมันเล่นจนเลยแทร็กสุดท้ายแล้วปล่อยทิ้งไว้เพราะหัวเข็มอาจเสียหายได้” เขาอธิบายขึ้นท่ามกลางเสียงเอื้อนหวานๆ ของนิน่า ซิโมน นักร้องผิวสีที่คุณวุฒิชื่นชอบ การสัมภาษณ์ดำเนินต่อไป
“
มันคือการลงทุนเพื่อให้ได้ฟังดนตรีดีๆ ในความเป็นส่วนตัวเมื่อใดก็ได้ในบ้าน ซึ่งนี่ก็เป็นลักษณะนิสัยหนึ่งที่แตกต่างออกไปสำหรับคนที่เล่นเครื่องเสียง การซื้อเพื่อโอ้อวดไม่ใช่จุดมุ่งหมาย
”
คนที่สนใจอยากจะก้าวเข้ามาในโลกของ Audiophile จะต้องมี 2 สิ่งเป็นทุนเดิม อย่างแรกคือต้องมีความสุขกับการได้ฟังดนตรีเสมือนเล่นสดอยู่ในบ้านตัวเอง “ถ้าแค่ชอบฟังเพลงโดยไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นที่ไหน ก็ออกไปฟังตามไนท์คลับหรือบาร์ได้ไม่ยาก มีนักร้อง มีดนตรีสดให้เสร็จสรรพ แต่เราไม่ได้ชอบแบบนั้น ฉะนั้นมันคือการลงทุนเพื่อให้ได้ฟังดนตรีดีๆ ในความเป็นส่วนตัวเมื่อใดก็ได้ในบ้าน ซึ่งนี่ก็เป็นลักษณะนิสัยหนึ่งที่แตกต่างออกไปสำหรับคนที่เล่นเครื่องเสียง การซื้อเพื่อโอ้อวดไม่ใช่จุดมุ่งหมาย หลายคนยังไม่ค่อยชอบบอกว่าตนเองเล่นอะไรอยู่เสียด้วยซ้ำ”
อย่างที่สองคือต้องหลงใหลในเทคโนโลยีและคุณภาพของเสียง “ทำไมเขาถึงใช้คำว่า ‘คนเล่นเครื่องเสียง’ เพราะมันมีการเล่นเครื่อง แล้วมันก็มีการฟังเสียงควบคู่กันไป มันจึงจะเกิดความอยากรู้อยากเห็น สมัยก่อนจะมีนิตยสารที่มีทั้งรีวิวเครื่องที่ออกใหม่ ส่วนของบทวิจารณ์และแนะนำอัลบั้มที่นักเล่นเครื่องเสียงควรหามาใช้ทดสอบเครื่อง โดยจะแบ่งการให้คะแนนเป็นส่วนของคุณภาพเสียง (บันทึกได้ดีไหม) กับคุณภาพดนตรี (ฟังเพราะไหม) ซื้อทุกฉบับ อ่านทุกหน้า โฆษณาก็ยังไม่เว้น” ซึ่งนอกจากเนื้อหาหลักๆ ที่อยู่ในนิตยสารซึ่งก็คือ เครื่อง กับ เสียง ก็ยังมีคอลัมน์ถาม-ตอบกับอาจารย์วิจิตร บุญชู ซึ่งเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการเครื่องเสียง เจ้าของนามปากกา แหวน & ใบไม้ ที่ใครต่างก็นับถือ เขาจะสามารถไขข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องเสียงได้อย่างทะลุปรุโปร่ง รายละเอียดของดนตรี เครื่องที่ขับเสียงได้ดี ฯลฯ
แม้ว่าประสบการณ์ของการได้นั่งดื่มด่ำกับเครื่องเสียงดีๆ จะยังคงเป็นสิ่งที่เรายืนยันว่าต้องสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้น แต่คุณวุฒิก็บรรยายมันออกมาได้เห็นภาพทีเดียว และยิ่งทำให้เราอยากเริ่มต้นทำความเข้าใจเองบ้าง
“ถ้าเครื่องได้ถึงระดับแล้ว มันจะเหมือนไม่มีอะไรมาคั่นระหว่างตัวของเรากับเสียงดนตรี เหมือนมันไม่ได้กำลังถูกขับด้วยเครื่องเสียงด้วยซ้ำ เหมือนเรานั่งฟังอยู่หน้าเวทีแล้วมีเสียงมาหาเราอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างมีบรรยากาศ มีมิติของเวทีดนตรีที่ควรจะเป็น มีเพียงเรากับห้วงของเสียงดนตรีเท่านั้น”
การได้ดำดิ่งลงไปในโลกของเครื่องเสียงไม่ใช่เพียงการทดสอบศักยภาพของอวัยวะที่ใช้รับฟัง แต่ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ในด้านดนตรีให้กับตัวเองด้วย แผ่นเดียวกันเมื่อพัฒนาเครื่องที่ใช้ฟังก็มีรายละเอียดที่เพิ่มขึ้นให้เราได้สัมผัส เพราะเมื่อเราลงทุนเพิ่มเข้าไป ก็ควรได้อรรถรสของดนตรีมากขึ้นเป็นสิ่งตอบแทนกลับมาด้วย “มันนำเราไปเข้าถึงดนตรีได้อย่างลึกซึ้ง”
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเตือนใจตนเองเสมอคือความพึงพอใจในการฟัง ผู้ฟังต้องซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง เครื่องเสียงที่ดีจะสมบูรณ์แบบได้ก็ต่อเมื่อมันสร้างความประทับใจให้กับเจ้าของผ่านเสียงที่ผลิตออกมา และไม่มีใครมาตัดสินข้อนี้แทนเราได้ดีไปกว่าหูของเราเอง ถึงตรงนี้กลับมาทบทวนคำเปรียบเปรยของนิน่า ซิโมน ช่วงต้นบทความ ก็ทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น
แม้ว่าวันนี้คุณวุฒิจะมีเครื่องเสียงไฮเอนด์ที่หลายคนใฝ่ฝันอยู่มากมายให้นั่งฟังทุกวัน แต่ที่เขาเสียดายที่สุดคือการไม่ได้เก็บวิทยุเครื่องแรกในชีวิตที่เขาซื้อเองไว้ “มันเป็นวิทยุ FM/AM ทรงลูกบอลสีเขียวๆ ขนาดเท่ากำปั้น ใช้วิธีหมุนหาสถานีโดยมีตัวเลขแสดงคลื่นความถี่ปรากฏบนช่องที่ถูกเจาะไว้ จำได้แม่นเลยว่าตอนนั้นซื้อมา 95 บาท”
มันจริงอย่างที่เขาพูดกัน หากเราจริงจังกับอะไรสักเรื่อง เราจะบันทึกทุกรายละเอียดไว้ในเขตความทรงจำพิเศษที่สงวนไว้โดยไม่มีเงื่อนไข เพราะที่คุณวุฒิสามารถจดจำได้อย่างเด่นชัดกว่าชื่อรุ่นและราคาของวิทยุสำเร็จรูปเหล่านี้ ก็คือภาพของเด็กหนุ่มธรรมดาคนหนึ่งในชุดเสื้อยืดคอกลมสีขาวกับกางเกงยีนส์ตัวเก่ง ที่มีความสุขอย่างเหลือล้นเพียงแค่ได้นอนฟังเพลงที่ถูกขับกล่อมออกมาจากเครื่องเสียงที่ตั้งอยู่บนโต๊ะริมหน้าต่างบานเกล็ดในห้องนอนทุกคืน